กรนและหยุดหายใจ ยิ่งอันตรายตอนท้อง

กรนและหยุดหายใจ ยิ่งอันตรายตอนท้อง (รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พ.อ.(พ).ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา โรคลมชักและการนอนหลับผิดปกติ

แม้การนอนกรน ดูเป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป รวมทั้งคุณแม่ท้อง แต่หากกรน พร้อมมีภาวะหยุดหายใจด้วยนี่สิ เป็นเรื่องแล้วค่ะ เพราะทำอันตรายต่อสุขภาพคุณแม่ และเจ้าตัวเล็กในท้องได้

 นอนกรนของแม่ท้อง

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ เช่น ท้องโตขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย การสูบฉีดเลือด ระบบไหลเวียนของเลือด รวมทั้งการเต้นของหัวใจ ซึ่งการสูบฉีดไหลเวียนเลือดที่มากขึ้น จะไปกระตุ้นเส้นเลือดในโพรงจมูก ทำให้มีภาวะบวมน้ำ ส่งผลให้เวลานอน จะรู้สึกหายใจไม่สะดวก และเกิดเสียงกรนนั่นเอง ประกอบกับลักษณะการนอนของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะนอนมากกว่าปกติ แต่ประสิทธิภาพการนอนลดลง ช่วงหลับลึกและหลับฝันน้อยลง ทำให้ง่วงบ่อยและงีบในตอนกลางวัน

ต่อมาช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน คุณแม่จึงจะเริ่มนอนเหมือนปกติ แต่ประสิทธิภาพการนอนจะยังไม่เหมือนเดิม ทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่มค่ะ

พอเข้า 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด อายุครรภ์ 6-9 เดือน คุณแม่จะนอนสั้นลง ประสิทธิภาพการนอนยิ่งแย่ลงตามไปด้วย เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ และเป็นช่วงที่คุณแม่นอนกรนมากขึ้น ทั้งนอนกรนผิดปกติ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงใกล้คลอดนี้ด้วยค่ะ แม้โอกาสเกิดขึ้นจะมีน้อยก็ตาม

 6 ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจเพิ่ม

          หากคุณแม่เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง ต้องติดตามและเฝ้าสังเกตอาการตัวเองนะคะ เพื่อป้องกันและรักษาต่อไป โดยกลุ่มเสี่ยงมีปัจจัยดังนี้ค่ะ 

 1. อ้วนก่อนท้อง น้ำหนักตัวเกินก่อนท้อง

 2. น้ำหนักเพิ่มมากเกินไประหว่างท้อง คือเพิ่มเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของแม่ท้อง

 3. มีการสะสมไขมันที่รอบคอมากเกินไป หรือเป็นคนคอสั้น

 4. มีความดันสูง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น ตัวบวม ความดันขึ้น รวมทั้งตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ

 5. มีประวัติคลอดลูกก่อนกำหนด มีประวัติคลอดลูกที่ผิดปกติ รวมทั้งคลอดทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

 6. ครอบครัวมีประวัตินอนกรนผิดปกติ

 สังเกตลักษณะนอนหยุดหายใจ

หายใจผิดจังหวะ คนปกติเวลาหายใจจะเป็นจังหวะเข้าออกอย่างเหมาะสม แต่ในคุณแม่ที่มีภาวะหยุดหายใจนี้ จะหายใจแบบค่อย ๆ แผ่วลง แล้วหยุด

การเคลื่อนไหวขึ้นลงของทรวงอกหรือช่องท้อง คุณพ่อช่วยสังเกตได้ โดยดูว่าเวลาคุณแม่นอนกรน หากมีอาการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วมาก ๆ ทรวงอกหรือช่องท้องของคุณแม่จะหยุดเคลื่อนไหวไปประมาณ 5-10 วินาทีต่อครั้ง และเป็นต่อเนื่องตลอดการนอนหลับ ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ค่ะ

อาการสะดุ้งเฮือกเมื่อกลับมาหายใจ คุณแม่จะมีอาการสะดุ้งเฮือก หรือสำลักน้ำลาย คล้ายพยายามกลับมาหายใจ หลังจากนั้นก็จะหลับต่อ และเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดการนอนหลับค่ะ

 อันตรายต่อสุขภาพแม่และลูก

หากคุณแม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ร่างกายจะขาดออกซิเจน เมื่อขาดออกซิเจนบ่อยๆ จะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ระบบปอด ทำให้เกิดความดันสูงนะคะ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดในสมองแตก ไตวายเฉียบพลัน และรุนแรงที่สุดคือภาวะหัวใจล้มเหลว

ส่วนลูกนั้น เมื่อคุณแม่ขาดออกซิเจนระหว่างท้องจะทำให้หัวใจลูกเต้นเร็วขึ้น เลือดไปเลี้ยงรกน้อยกว่าปกติ ทำให้คลอดก่อนกำหนด ทารกขาดสารอาหารการเจริญเติบโตจะผิดปกติ คลอดออกมาแล้วตัวเล็กสมองได้รับผลกระทบ ทำให้พัฒนาการของเด็กผิดปกติ หรือรุนแรงสุดคือทารกเสียชีวิตจาการแท้ง

 ต้องเร่งรีบรักษา

เมื่อคุณแม่สังเกตอาการตัวเองหรือพบว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงแล้ว ควรไปตรวจภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Lap) โดยคุณหมอจะใช้อุปกรณ์ตรวจหนึ่งคืน หากพบว่ามีภาวะหยุดหายใจจริง คุณหมอจะรักษาด้วยเรื่องพ่นอากาศ CPAP medicine ซึ่งช่วยทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น และอาจต้องใส่ทุกวันในช่วงใกล้คลอด และเมื่อคลอดลูกแล้ว คุณหมอจะให้กลับมาทำ Sleep Lap อีกครั้ง เพื่อติดตามดูว่าคุณแม่ยังมีภาวะหยุดหายใจหลังคลอดหรือไม่ เพื่อรักษาต่อไป

 สถิตินอนกรนของแม่ตั้งครรภ์

 ผู้หญิงทั่วไปไม่ได้ตั้งครรภ์ มีอาการนอนกรน 4 %

 เมื่อตั้งครรภ์จะนอนกรนเพิ่มขึ้นเป็น 14-27 %

 ตั้งครรภ์แล้วไม่มีอาการนอนกรน 60%

 ช่วงใกล้คลอดมีอาการนอนกรน 30%

          คุณแม่ที่นอนกรน ต้องเร่งรีบสำรวจตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าวหรือไม่ หากใช่ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้หายขาดค่ะ