นวัตกรรมการรักษาโรคลมชัก

นวัตกรรมการรักษาโรคลมชัก

โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ  ในปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งbrainในผู้สูงอายุ      ซึ่งการรักษาโรคลมชักก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก   ทั้งนี้คอลัมน์ Cover Story  ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก  พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์   หัวหน้าหน่วยโรคลมชัก ประสาทวิทยา   กองอายุรกรรม  โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า   ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักได้มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคลมชัก  และนวัตกรรมการรักษาโรค

Yotinโรคลมชัก เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง  สมองของคนเราจะมีการทำงานของเซลล์ประสาท  ซึ่งเซลล์ประสาทจะทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้าภายในสมองส่งต่อ   ถ้ากระแสไฟฟ้าภายในสมองมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดอาการชักขึ้น     ซึ่งอาการชักมีหลากหลายด้วยกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่มีความผิดปกติ

โดยส่วนใหญ่กระแสไฟฟ้าภายในสมองผิดปกติจะแบ่งเป็น ผิดปกติแบบจุดและผิดปกติแบบสมองทั้งสองข้าง   ที่พบได้บ่อยทางคลินิกก็คือ  กระแสไฟฟ้าภายในสมองผิดปกติแบบจุด  ทำให้สมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติไปชั่วขณะ มีอาการแสดงออกมาหลายอย่างด้วยกัน

อาการชักเฉพาะที่แบบมีสติโดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ    ในกรณีที่ผู้ป่วยยังรู้ตัว เรียกว่าเป็นอาการเตือน หรือ AURA  ซึ่ง AURA  มีหลายอย่างขึ้นอยู่กับสมองส่วนที่ผิดปกติ    เช่น  ถ้าเป็นสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนและขา   ผู้ป่วยจะมีอาการสะดุ้ง อาการกระตุกเฉพาะส่วน   อาจจะเป็นที่ แขน ขา  ใบหน้า เป็นต้น     ถ้าเป็นสมองส่วนรับความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็น  ผู้ป่วยอาจจะมีการมองเห็นที่ผิดปกติไป    แม้กระทั่งมีในเรื่องของระบบประสาทพิเศษต่างๆ  ที่อาจจะพบได้แต่ไม่บ่อย  เช่น  บางคนมาด้วยอาการเวียนศีรษะ    บางคนมาด้วยมีอาการเหมือนคลื่นไส้อาเจียน   หรือบางครั้งเห็นมีภาพผิดปกติ   ได้ยินเสียงที่ผิดปกติ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพอสมควร   และผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย

-อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ แบบเหม่อลอยไปชั่วขณะ   ผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องมีอาการไม่รู้ตัวเลย    หรือมีอาการไม่รู้สึกตัวเหมือนเบลอไป   ไม่จำเป็นต้องหมดสติ 100% หรือบางรายอาจหมดสติ 100%   สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยจำอะไรไม่ได้   หรือจำได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น   หรือมีการสั่งงานของสมองไม่ถูกต้อง    เช่น บางคนรู้สึกอยากจะพูดแต่พูดไม่ออก   อยากจะเคลื่อนไหวเคลื่อนไหวไม่ได้  หรือพอมีเหตุการณ์ก็จำเหตุการณ์ไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น  ความทรงจำโดนลบไปชั่วขณะ  เมื่อหายแล้วทุกอย่างเป็นปกติ

-อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว   ผู้ป่วยมีอาการเกร็งกระตุกไปทั่วตัว เนื่องจากกระแสไฟฟ้าภายในสมองผิดปกติแบบจุด ได้มีการกระจายไปสมองทั้ง 2 ข้าง   ผู้ป่วยมีอาการ  GTC   มีลักษณะ  Generalized Tonic Clonic  ซึ่งผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว   อาจมีการเกร็ง  มีกัดฟัน มีกัดลิ้นตัวเอง   มีปัสสาวะราดได้    เนื่องจากกระแสไฟฟ้ามีการกระจายไปสมองสองข้าง   จึงเกิดอาการชักอย่างรุนแรง   ส่วนใหญ่อาการชักที่เกิดขึ้นจะหยุดเอง โดยกลไกของร่างกาย

สาเหตุของการเกิดโรคลมชัก

-การกระทบกระเทือนหรือมีรอยโรคที่สมอง  เช่น เซลล์สมองมีการวางตัวผิดปกติตั้งแต่เกิด   หยักสมองมีการสร้างที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่เกิด  เป็นต้น

-ภาวะเนื้องอกในสมอง

-โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ   แตก  ตีบ หรืออุดตัน

-อุบัติเหตุทางสมอง

-พันธุกรรม

-อายุที่มากขึ้น  ปัจจุบันพบว่าโรคลมชักพบมากขึ้นในผู้สูงอายุที่แข็งแรงไม่เคยเป็นโรคอะไรมาก่อน   เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นสมองฝ่อลีบลง  ทำให้เซลล์สมองมีโอกาสผิดปกติได้สูงขึ้น  และจะทำให้เกิดอาการชักได้      สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคไต โรคตับ เส้นเลือดอุดตัน  โรคเบาหวาน   โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น   เมื่อมีอายุมากขึ้น   ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมชักเมื่ออายุมากขึ้น

การตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก

EEG-fMRI2การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักมีวิธีการตรวจค่อนข้างจะหลากหลาย  ที่สำคัญที่ในปัจจุบันใช้เรียกว่า  การตรวจคลื่นสมอง (EEG) คลื่นไฟฟ้าสมองเป็นสิ่งที่ช่วยในการยืนยันทางคลินิก ซึ่งการตรวจคลื่นสมองมีหลายรูปแบบ เบื้องต้นเรียกว่าการตรวจแบบธรรมดา หรือ routine ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักหรือมีอาการสงสัยชักก็จะนำผู้ป่วยมาตรวจไฟฟ้าสมองประมาณ 16 สาย เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าออกมา โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง   บางครั้งอาจจะต้องให้ผู้ป่วยอดนอนมาแล้วมาตรวจ   เพื่อเป็นการกระตุ้นทำให้วัดคลื่นไฟฟ้าสมองได้ง่ายขึ้นประมาณ 10-20%   แต่อย่างไรก็ตามการตรวจชนิดนี้ยังไม่ได้ผล 100%  ในการตรวจพบความผิดปกติ   จะมีการตรวจในขั้นตอนต่อไป เรียกว่า การตรวจคลื่นสมองประกอบภาพวิดีทัศน์ (video EEG monitoring)  เป็นการตรวจ 24 ชั่วโมง   ผู้ป่วยต้องมานอนที่โรงพยาบาล และมีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าใน 24 ชั่วโมง  เมื่อมีอาการเกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมง ก็จะสามารถเห็นและบันทึกไว้ ถ้าหากไม่พบความผิดปกติ อาจต้องตรวจต่อไป 3-5 วัน

นอกจากนี้ยังมีการตรวจคลื่นสมองอีกวิธีหนึ่งเรียกว่า ICU  EEG Monitoring หรือ contineous EEG monitoring (cEEG)  การวัดคลื่นสมองแบบไม่จำเป็นต้องมีกล้องหรือมีกล้องก็ได้   โดยใช้เครื่องมือนี้ในการตรวจผู้ป่วยที่มีความรับรู้ที่ผิดปกติไป  ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มาด้วยอาการซึมลง  ไม่รู้ตัว  ไม่ตื่น   และหาสาเหตุไม่ได้  เรานำเครื่องมือนี้มาใช้กับผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วย ICU มากขึ้นในการบันทึกผู้ป่วยที่มีอาการหนัก  ไม่รู้ตัว  ซึ่งเป็นผู้ป่วยหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยบางคนที่มาด้วยน้ำตาลสูง มีเกลือแร่สูง  ติดเชื้อ และซึมลง  หรือบางคนมาด้วยเรื่องของอุบัติเหตุสมอง เช่น ศีรษะกระแทกและไม่รู้ตัว  หรือบางคนเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคไต  มีการล้างไตปกติ   และมีอาการซึมลง   เราใช้เครื่องมือตรวจพบว่า ประมาณ 20% ของผู้ป่วยอาจมีคลื่นชักอยู่  ซึ่งเราจะให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง  ถ้าไม่รักษาเรื่องคลื่นชักผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะไม่ตื่นขึ้นมา

EEG fMRIล่าสุดเรานำการตรวจคลื่นสมอง(EEG) มารวมกับ MRI Scan เรียกว่า EEG   fMRI   เมื่อทำคลื่นไฟฟ้าสมอง  เรานำผู้ป่วยไปในเครื่อง MRI Scan   ซึ่งผู้ป่วยจะติดตัวขั้วไฟฟ้าไว้   เข้าไปบันทึกใน MRI Scan  โดยใช้เวลาประมาณ  1 ชั่วโมง   สามารถนำข้อมูล EEG มารวมกับข้อมูลของ MRI Scan  ทำให้หาตำแหน่งที่ทำให้เกิดการชักได้   เครื่องมือนี้ได้มีใช้ในบ้านเรา
นอกจากนี้เป็นการตรวจทางภาพ ที่สำคัญคือ MRI Scan  เพื่อดูตำแหน่งของรอยโรค  แผลเป็นในสมอง  หยักสมองว่ามีความผิดปกติหรือไม่  ดูเส้นเลือดผิดปกติหรือไม่   มีเนื้องอกหรือไม่    มีสมองเหี่ยวลีบหรือไม่   ซึ่งนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์วินิจฉัยว่าตรงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชักหรือไม่    การใช้ SPECT,  PET Scan ตรวจหาจุดต่ำแหน่งที่ก่อให้เกิดอาการชักที่ใช้ในเตรียมผ่าตัด  และอาจมีเครื่องมือใหม่ๆ  ในบ้านเรายังไม่มี

การรักษาโรคลมชัก

โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย    และอัตราการเกิดโรคลมชักมีโอกาสที่จะสูงขึ้น  เนื่องจากคนมีอายุยืนยาวขึ้น   แต่อย่างไรก็ตามข้อดีของโรคลมชักคือ เวลาที่ผู้ป่วยไม่มีอาการชัก เขาจะเหมือนกับคนปกติทั่วไป สามารถทำงานได้    แต่เมื่อมีอาการชัก ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชักบ่อยๆ สมองของเขาจะแย่ลง   โรคลมชักเป็นโรคที่เน้นที่การรักษา  ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรักษาแต่เนิ่นๆ   ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาโรคลมชักมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักมีโอกาสหายขาดจากโรคค่อนข้างสูง

-การรักษาโดยการใช้ยา

มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักเมื่อทานยากันชัก   70%  หลังจากทานยา  ผู้ป่วยไม่มีอาการชักเลย   และ  30%   ทานแล้วดื้อต่อยากันชัก      ซึ่งใน  70% ที่ตอบสนองกับยากันชักนั้น    ผู้ป่วยโรคลมชักต้องทานยากันชักในระยะเวลานาน   เนื่องจากยาไปออกฤทธิ์ในระดับเซลล์  ทำให้เซลล์ค่อย ๆ ปรับตัวเป็นปกติ   ใน 70%  ที่ตอบสนองต่อยา  จะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งประมาณเกือบครึ่งเมื่อทานยาครบ 3-5 ปี สามารถหยุดยาได้ และอาการชักหายไป    แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อหยุดยากันชักแล้วกลับมาชักอีก  ซึ่งในกลุ่มนี้พบว่ารอยโรคของเขาอาจจะค่อนข้างมาก การทานยา สามารถควบคุมได้  แต่ต้องทานยาตลอดไปเป็นระยะเวลานาน  หรือบางคนต้องทานยาไปตลอดชีวิต  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

-การรักษาโดยการผ่าตัด

Epilepsy surgeryผู้ป่วยที่ดื้อต่อยา 30%   คือกลุ่มที่ทานยากันชักอย่างน้อย 2 ตัวขึ้นไป  แล้วไม่สามารถควบคุมอาการชักได้   ในกลุ่มที่ดื้อต่อยากันชักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรอยโรคในสมองค่อนข้างชัดเจน   ซึ่งในกลุ่ม 30% ที่ดื้อต่อยา เราจะพิจารณานำผู้ป่วยมาตรวจตำแหน่งที่ทำให้เกิดการชัก    การรักษาที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การผ่าตัด

พบว่าการผ่าตัดสามารถทำได้ประมาณ 50-60% ในผู้ป่วยที่ดื้อต่อยา  นั่นหมายความว่าผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาประมาณ 10 คน  สามารถผ่าตัดได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง   การผ่าตัดรักษาโรคลมชักถือว่าปลอดภัย เพราะว่าวิธีการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับการหาตำแหน่งรอยโรคที่ทำให้เกิดอาการชักได้แม่นยำขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมาตรวจอาการที่ค่อนข้างซับซ้อนเพื่อหาตำแหน่ง ได้แก่

-การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง 24  ชั่วโมง   ผู้ป่วยต้องมานอนพักที่โรงพยาบาลเป็นสัปดาห์  ต้องมีการตรวจเอ็กซเรย์แบบพิเศษ ตั้งแต่การถ่ายภาพแม่เหล็กสมอง (MRI  Scan ) แบบพิเศษ เนื่องจากการตรวจดูโรคลมชักต้องมีความละเอียดอย่างมาก  และต้องใช้ MRI Scan  ที่มีความชัดเจนค่อนข้างสูง มักเป็น MRI รุ่นใหม่ๆ เช่น 3 Tesla MRI Scanner ซึ่งจะเห็นภาพได้ชัดคมขึ้น  หลังจากนั้นค่อยใช้การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์   เพราะภาพที่ได้จากคอมพิวเตอร์ค่อนข้างหยาบและให้ข้อมูลค่อนข้างน้อย   จากนั้นอาจต้องใช้การตรวจทางภาพด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ  การตรวจภาพกัมมันตรังสี  เช่น SPECT  Scan    PET Scan รวมทั้งการตรวจคลึ่นไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เรียกว่า  เครื่องตรวจไฟฟ้าสมองชนิด 128 ช่องสัญญาณ และกล้องดิจิตอลพร้อมเครื่องกระตุ้นสมอง  High simultaneous EEG  เพื่อตรวจหา  แล้วนำมารวมกับภาพอื่น  ปัจจุบันใช้ EEG  ร่วมกับ  MRI Brain   หรือ   EEG ร่วมกับ  fMRI  Brain  ซึ่ง  fMRI Brain คือการตรวจการทำงานของสมอง คือเราต้องการนำภาพโครงสร้าง ภาพการทำงานของสมอง และภาพคลื่นชักมารวมเป็นภาพเดียวกัน   ซึ่งต้องใช้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย   ปัจจุบันสามารถทำได้แล้วในการเตรียมผ่าตัด  ซึ่งเราใช้มาวิเคราะห์รวมกัน  คือผู้ป่วยต้องไปทำการตรวจ  เช่น  ตรวจคลื่นไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ตรวจเอ็กซเรย์ MRI  Scan  ตรวจการทำงานของสมอง เช่น ทำ  fMRI  Brain   เหมือนการตรวจสมองส่วนที่ทำงานว่าทำงานหน้าที่อะไร อยู่ตรงไหน  ยกตัวอย่าง  สมองส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องความคิดหรือการพูด  สมองเรื่องการมองเห็น  สมองเรื่องการเคลื่อนไหว   เป็นต้น  เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มารวมกัน จะได้เป็นข้อสรุปว่าตำแหน่งของคลื่นชักนั้นเป็นตำแหน่งที่จะผ่าตัดได้หรือไม่  และถ้าผ่าตัดไปแล้วจะมีปัญหา ทำให้เกิดความบกพร่องของร่างกายหรือไม่   ซึ่งอันนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ในการเตรียมผู้ป่วยโรคลมชักเพื่อการผ่าตัด

Ictal SPECTนั่นเป็นสิ่งที่เน้นย้ำว่าการผ่าตัดโรคลมชักในปัจจุบันค่อนข้างจะปลอดภัยและได้ผลมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ   เพราะว่าการผ่าตัดที่เตรียมการไม่ดีอาจจะมีผลต่อความสำเร็จในการที่จะทำให้ผู้ป่วยหยุดอาการชักลดลงไป  หรืออาจจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนได้      ซึ่งการผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยากันชัก  อย่างน้อย 50% ที่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอย่างอื่นซึ่งอาจเป็นวิธีเสริม  เช่น การใช้อาหารในการรักษา  ซึ่งประเทศไทยทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว เป็นการใช้อาหารไขมันสูง  เรียกว่า Ketogenic diet   การมีไขมันสูงทำให้เกิด ketosis ในร่างกาย  ซึ่ง ketosis ไปกระตุ้นทำให้เซลล์เกิดการยับยั้ง ทำให้อาการชักลดลงได้ ซึ่งอาหารนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นเด็ก  เนื่องจากต้องมีการกำหนดส่วนประกอบของอาหาร   ซึ่งผู้ป่วยต้องประกอบอาหารเอง  วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ลำบากที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่หรือผู้ป่วยสูงอายุ  แต่จะใช้ได้ดีในผู้ป่วยเด็ก

เทคโนโลยีการรักษาโรคลมชักในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความหวังอยู่ว่าอาจมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในอนาคตอันใกล้ เช่น  การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ยิงซึ่งจะมีการฝังลวดเข้าไปและใช้เลเซอร์ยิง    หรือการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมอง ซึ่งการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นสมองมีหลายรูปแบบด้วยกัน   ตั้งแต่แบบดั้งเดิมที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว นั่นคือ  Vegal nerve stimulation คือการฝังแบตเตอรี่ที่หน้าอกแล้วต่อสายลวดไปพันที่เส้นประสาท Vegal nerve  ที่คอ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในร่างกายของเรา  วิธีนี้ทำให้อาการชักลดลงได้  แต่ผลสำเร็จยังไม่สูงมากนัก  และราคาเครื่องมือค่อนข้างแพงมาก

ในอนาคตภายใน 4-5 ปีข้างหน้าจะมีวิธีการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นแบบใหม่ ๆ  และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทย   ซึ่งวิธีการกระตุ้นไฟฟ้าก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  อาจจะมีการฝังขั้วไฟฟ้าพิเศษเข้าไปตำแหน่งที่ทำให้เกิดการชัก  และมีอุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกับโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างนอก  สามารถส่งสัญญาณเข้าไปบังคับเครื่องที่อยู่ข้างในได้   เมื่อมีคลื่นชักออกมา ส่งมาที่เครื่องนี้   เครื่องนี้ก็จะส่งคลื่นไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นสมองส่วนนั้น  ทำให้หยุดอาการชักได้   ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีที่มีการวิจัยแล้ว  และมีการทดลองในต่างประเทศ      ก็เป็นความหวังหนึ่งของผู้ป่วยโรคลมชัก เกี่ยวกับวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่จะออกมา

เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด  คือ photo genetics  หรือ การใช้แสงไฟรักษา    คือการฝังเซลล์พิเศษซึ่งเป็นเซลล์ที่เปล่งแสงได้เข้าไปในสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการชัก    คุณสมบัติของเซลล์ตัวนี้คือถ้าเปล่งแสงเมื่อใด  จะไปปิดการนำไฟฟ้าของเซลล์ตรงนั้น   ทำให้ไม่มีการส่งผ่านของไฟฟ้าตรงนั้น  ฝังเซลล์ตัวนี้เข้าไปในตำแหน่งที่ทำให้เกิดอาการชัก   เมื่อมีคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมา  เครื่องก็จะบันทึกว่าเริ่มมีคลื่นชักมาแล้ว ก็จะมีการยิงแสงเข้าไป  ทำให้เซลล์ตัวนั้นเกิดการบล็อกไม่ให้ไฟฟ้ากระจายไป ทำให้ไม่มีอาการชัก  ก็เป็นหลักการง่ายๆ  เทคโนโลยีรุ่นใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยอยู่ แต่ว่าเริ่มวิจัยในคนแล้ว   เทคโนโลยีนี้ก็คงมีโอกาสมาใช้ในคนภายใน 5-10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ที่สำคัญคือ จะมียากันชักใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ  ซึ่งเราพบว่ามีผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลกประมาณ 50 ล้านคน   ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียประมาณ 2  ใน 3   นั่นคือประมาณ  30 ล้านคนอยู่ในทวีปเอเชีย  ดังนั้นจึงทำให้ยากันชักมีการพัฒนาวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง   นักวิจัยก็พยายามจะหายาหรือสารเคมีที่ดี ๆ มาใช้ในการรักษาโรคลมชัก   จะมียากันชักที่เป็นยาใหม่เข้ามาอย่างน้อยปีละ 1-2 ตัว  สิ่งนี้เป็นความหวังทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสที่จะได้ยาที่ดีขึ้น  ทำให้โอกาสจะหายจากการชักเพิ่มมากขึ้น

ความรุนแรงของโรค 

พบว่าในแง่ความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยโรคลมชัก 70% มักจะรักษาด้วยยา   แต่ต้องทานระยะยาว  ผู้ป่วย 30%  คือกลุ่มที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยา นั่นแสดงว่ากลุ่มที่ดื้อต่อยามักเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก   ซึ่งในกลุ่มนี้จะยังมีอาการชักอยู่ทุกเดือน หรือทุกๆ 2-3 เดือน  แต่จะมีโรคลมชักบางอย่างที่รุนแรงกว่านั้น  โดยส่วนใหญ่มักเป็นโรคลมชักที่พบในเด็ก  โดยเฉพาะเด็กที่มีช่วงพัฒนาการในช่วงประมาณขวบปีแรกจนถึงประมาณผู้ใหญ่   จะมีโรคลมชักบางกลุ่มที่อาจมีความสัมพันธ์กับเรื่องของพันธุกรรมและการพัฒนาการของเซลล์สมอง   ซึ่งบางอย่างยังไม่ทราบชัดเจนหรือบางอย่างอาจเป็นแค่บางส่วนของพันธุกรรมบวกกับการพัฒนาการของสมอง  ในกลุ่มพวกนี้มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก อาจจะทำให้การพัฒนาการของเด็กถดถอยและเสียไป   ทำให้เด็กไม่มีการพัฒนาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง   เด็กจะเกิดภาวะสติสัมปะชัญญะผิดปกติร่วมกับโรคลมชัก  ถึงแม้จะคุมโรคลมชักหายไปแล้ว  เมื่อเด็กโตขึ้น  เขาไม่สามารถที่จะเรียนรู้  ไม่สามารถทำงานได้  ไม่สามารถที่จะไปโรงเรียน  หรือบางคนอาจไม่สามารถที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้  เนื่องจากสมองในส่วนนั้นเสียไป   ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่พยายามจะหายาใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆที่พยายามจะยับยั้ง และทำให้โรคลมชักกลุ่มนี้ดีขึ้น    เรามีความรู้มากขึ้นแต่ว่ายาในการรักษาโรคกลุ่มนี้ยังไม่เพียงพอ    เด็กที่เป็นโรคลมชักยังมีปัญหาในการควบคุมโรคได้ยากมาก  โรคลมชักกลุ่มนี้เป็นโรคลมชักที่ทำให้สมองผิดปกติ เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก

การประเมินผลและการติดตามการรักษา

brain 2การติดตามการรักษา เราจะใช้ประเมินดูตามอาการชักของผู้ป่วยเป็นหลัก และดูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย    อันดับแรกจะดูเรื่องจำนวนชัก  ผู้ป่วยทุกคนต้องทำ SEIZURE  CALENDAR  เพื่อบันทึกการชัก ปัจจุบันมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็น SEIZURE  CALENDAR   แบบใช้ใน App  สามารถ Download   App  ในเครื่อง Android  ซึ่งเราจะนำผู้ป่วยมาลงทะเบียน  จากนั้นให้เขา Down Load App  เมื่อผู้ป่วยชักเขาก็จะกดว่ามีอาการชัก  ชักกี่ครั้ง แบบไหน  มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ ทุกอย่างมีข้อมูลเป็นขั้นตอน เมื่อผู้ป่วยกดข้อมูลจะมาที่ server  ข้อมูลจะมาที่ระบบ Databaseวินิจฉัยออกมาเป็นกราฟ   ตรงนี้เป็นการใช้ IT  เข้ามาในการบันทึก SEIZURE  CALENDAR    ได้แม่นยำมากขึ้น  เพราะพบว่าการให้ผู้ป่วยบันทึกบางครั้งผู้ป่วยอาจลืม  และจดบันทึกไม่ถูกประมาณ 50%  เพราะฉะนั้นการใช้ App ซึ่งปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ จะทำให้การบันทึกกราฟแม่นยำและสะดวกมากขึ้น  ยกตัวอย่าง ถ้าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง App จะส่งเตือนแพทย์  ข้อมูลจะแสดงว่าเขาเริ่มมีปัญหาเรื่องของทานยา  หรือชักมาก   สามารถจะส่งตอบกลับได้   ข้อดีของการใช้ App นี้ทำให้เราสามารถดึงผู้ป่วยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลุ่มได้   ทำให้มี social network  ของโรคลมชักใน facebook และ twitter  ทำให้สามารถเข้ามาแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน  และมา chat กัน ซึ่ง Software นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบอยู่  คาดว่าคงมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น  ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก  และแพทย์สามารถติดตามได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้มาโรงพยาบาลทุกวัน   ทำให้ข้อมูลนี้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

เราดูการชักเป็นหลัก  เมื่อคุมอาการชักแล้ว     ถ้าผู้ป่วยไม่ชัก   แสดงว่าคุมโรคได้ดีมาก  การรักษาถือว่าประสบความสำเร็จ    ซึ่งเราพยายามให้ผู้ป่วยทานยา  เมื่อถึงเวลาที่กำหนดในการหยุดยาได้   ก็พิจารณาว่าหยุดยา  ถ้าหยุดยาไม่ได้ก็ต้องมามองที่สาเหตุ  ซึ่งแพทย์จะให้ข้อมูลกับผู้ป่วยอีกครั้ง      ผู้ป่วยกลุ่มที่ทานยาแล้วยังกลับมาชักอยู่เรื่อยๆ   ต้องประเมินว่า  ถ้าผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังตอบสนองต่อยา  ก็จะพิจารณาหายาที่เหมาะสมให้  ถ้าติดตามไปสักระยะหนึ่ง ไม่ตอบสนองต่อยาและดื้อต่อยาอีก   จะพิจารณาตรวจหาตำแหน่งรอยโรค เพื่อดูว่าจะสามารถผ่าตัดได้หรือไม่

สำหรับเรื่องการประเมินทั่วไปในเรื่องคุณภาพชีวิต  มีการประเมิน เช่น  ผู้ป่วยสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ปกติหรือไม่  มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไหม  ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักบางคนมีเรื่องการซึมเศร้า  วิตกกังวลง่าย  หรือว่าพึ่งพาผู้อื่นค่อนข้างสูง บางครั้งผู้ป่วยโรคลมชัก ได้รับการ Over Protect    เมื่อมีอาการชักมาก ทางครอบครัวไม่ให้ออกไปไหน  ต้องอยู่ที่บ้านตลอดเวลา    กิจกรรมต่างๆ ก็จะน้อยลง     บางครั้งการให้ความรู้ก็จะมีความสำคัญอย่างมาก   เพราะบางคนไม่เข้าใจและจะ Over Protect  เกินไป หรือผู้ป่วยบางคนก็ปล่อยตัวเองมากเกินไป   รู้ว่ามีอาการชัก แต่ยังใช้ไลฟ์สไตล์แบบไม่ระมัดระวัง  เช่น อดนอนไปดื่มเหล้า    ควรปรับเช่นเดียวกัน

บทบาทของแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคลมชัก

Stethoscopeบทบาทของแพทย์คือ 1. จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องตัวโรคค่อนข้างดีพอสมควร   จะต้องมีความรู้ในแนวลึกพอสมควร เพราะว่าการรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก ต้องประเมินว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ขนาดไหน มากหรือน้อย    ผู้ป่วยกลุ่มไหนควรใช้ยา หรือต้องใช้วิธีการผ่าตัด   จะต้องมีความรู้ที่ดีเกี่ยวกับเรื่องยา ทั้งในเรื่องการออกฤทธิ์ของยา  ผลข้างเคียงจากการใช้ยา   เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอธิบายผู้ป่วยอย่างละเอียด เพราะเขาต้องทานยาระยะยาว  ยกตัวอย่าง  ผู้ป่วยโรคลมชักตั้งครรภ์  เมื่อให้ยาไปทาน ก็ต้องคุยกับผู้ป่วยแนวลึกเลยว่ายาจะมีผลกระทบต่อเด็กในท้องหรือไม่   ถ้าคลอดออกมาแล้วเด็กจะเป็นอย่างไร  หรือจะให้นมลูกได้หรือเปล่า  ซึ่งสิ่งเหล่านี้แพทย์จะต้องมีความรู้ที่ดี  ถ้าไม่มีความรู้ และให้ความรู้ผิดๆ ก็เป็นอันตรายกับผู้ป่วยพอสมควร    หรือการสั่งยากันชักให้ในกลุ่มที่ไม่ควรให้ เช่น ผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นผู้สูงอายุ  ปรากฏว่าให้ยากันชักในกลุ่มที่ทานเข้าไปยิ่งทำให้กระดูกบาง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องมีความรับผิดชอบ

เนื่องจากโรคลมชักเป็นโรคที่ค่อนข้างจะมีแนวลึกพอสมควร  ถ้าคิดว่าไม่สามารถดูแลผู้ป่วยโรคลมชักได้ อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับโรค   ต้องยอมรับว่าความรู้ของแพทย์จะมีข้อจำกัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา  ก็จะรู้เฉพาะในส่วนของสาขาตนเอง  แต่จะไม่สามารถรู้หมดทุกอย่างได้   การทำงานแบบทีมเวิร์คมีความสำคัญ หรือการปรึกษาแพทย์ผู้รู้เข้ามาช่วยก็จะเป็นประโยชน์

2.แพทย์ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย   เพราะว่าผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ที่สำคัญมากคือการให้ความรู้กับผู้ป่วย ไม่ใช่แค่สั่งยาให้ แล้วไม่อธิบายให้ผู้ป่วยฟังเลย  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ    เพราะว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก

สุดท้าย พ.อ.ดร.นพ.โยธิน ฝากเพิ่มเติมว่า   ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าว่าโรคลมชักเป็นโรคที่พบบ่อยมาก  และแพทย์ที่ดูแลโรคลมชักในบ้านเราที่มีความรู้ในแนวลึกก็มีน้อยทีเดียว  และศูนย์ที่ดูแลเกี่ยวกับโรคลมชักในบ้านเรามีไม่กี่แห่ง  ก็อยากฝากให้แพทย์ที่ดูแลโรคลมชักอยู่ทั่วๆ ไป  ควรจะต้องเข้ามาฝึกอบรมหรือหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคลมชักให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้การรักษาในระดับชุมชนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น  และอยากให้มีระบบ Network การ  referral ที่ดี  เพราะโรคลมชักถ้ามีระบบ referral ที่ดีไม่จำเป็นต้องไปสร้างผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมด  ไม่จำเป็นต้องไปสร้างศูนย์โรคลมชักทั่วประเทศ      ทำให้มีการส่งต่อรักษาและส่งกลับอย่างมีประสิทธิภาพ  ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ระบบการดูแลโรคลมชักแบบครบวงจรในเมืองไทยน่าจะดีขึ้น   ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย  เพราะไม่จำเป็นที่แต่ละที่ต้องไปซื้อเครื่องมือที่เหมือนกัน    ตรงนี้ก็ฝากไปถึงระดับผู้บริหารสาธารณสุข ผมคิดว่านักบริหารสาธารณสุขต้องกลับมามองแล้ว  โรคลมชักเป็นโรคที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก    หรือว่าผู้ป่วยโรคลมชักเขาเสียงานไปกี่วันในแต่ละปี ทำให้ขาดแรงงานที่สำคัญ  เพราะว่าโรคลมชักแฝงเร้นในช่วงทุกอายุ   พบว่าเราสูญเสียตรงนี้ไปมาก  แต่ขณะที่โรคหัวใจที่รณรงค์ปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ  แต่โรคลมชักไม่ลดลงเลยมีแต่มากขึ้น   ผมฝากไปยังผู้บริหารสาธารณสุข ระดับผู้บริหารที่อยู่ในกระทรวง   หรือผู้บริหารที่มีอำนาจในการวางแผนนโยบายควรจะต้องกลับมามองโรคลมชักให้มากขึ้น

สำหรับข่าวในเรื่องกระแสเรื่องการขับรถ   ข่าวที่ออกไปเป็นสิ่งที่อาจจะเข้าใจกันผิด    ผู้ป่วยโรคลมชักตอนที่ชัก เขาผิดปกติ   ตอนที่ไม่ชักเขาปกติเหมือนคนปกติทั่วไป      โรคลมชักโดยทั่วไปการขับรถมีกฎหมายที่เป็นตัวอ้างอิงอยู่แล้วทั่วโลก  ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย  อังกฤษ  ยุโรป  ซึ่งเขามองโรคลมชักเหมือนกับโรคอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับสมองเพียงชั่วคราว    เพราะฉะนั้นผู้ป่วยขับรถหรือไม่ขับรถ เขาจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าห้ามขับรถตลอดชีวิต  เพราะตอนนี้กระแสสังคมเข้าใจมากขึ้น     ในเบื้องต้นฝ่ายที่ดูแลเรื่องใบขับขี่ได้ออกข่าวว่าห้ามขับรถตลอดชีพ   ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังแก้ไขอยู่    ผมพึ่งได้อ่านร่างใหม่ของกรมการแพทย์ที่จะส่งให้กรมการขนส่งเร็วๆ นี้  เป็นร่างวิธีปฏิบัติกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคทางสมอง  รวมทั้งโรคหัวใจ  รวมทั้งโรคลมชักก็รวมอยู่ในโรคหลักนั้นด้วย  เกี่ยวกับใบขับขี่   เมื่ออ่านแล้วผมค่อนข้างพอใจอย่างมาก ซึ่งร่างนี้ไปอ้างอิงจากประเทศออสเตรเลีย  ยกตัวอย่าง  ถ้าผู้ป่วยโรคลมชักเพิ่งชักครั้งแรก    เขาจะห้ามขับรถประมาณ 1 ปี  ถ้ามีการรักษาที่เหมาะสมแล้ว ปีที่ 2  สามารถขับรถได้  และต้องมาต่อใบขับขี่ปีต่อปี   ถ้าผู้ป่วยโรคลมชัก ขาดยา เกิดการชักเกิดขึ้น หยุดการขับรถประมาณ 3 เดือน  แล้วประเมินโดยแพทย์ใหม่อีกครั้ง  ถ้าทานยาสม่ำเสมอแล้วสามารถที่จะกลับไปขับรถได้       มีอยู่บางกรณีที่อาจจะต้องมีระยะเวลาการห้ามขับรถนานขึ้น  เช่น ผู้ป่วยโรคลมชักที่ต้องขับรถขนาดใหญ่  เช่น ขับรถบัส  ขับรถบรรทุก ขับรถสาธารณะ ในกลุ่มนี้อาจต้องมีการห้ามขับรถนาน อาจประมาณ 5 ปี  นอกจากนั้นก็จะมีปลีกเล็กน้อย เช่น ผู้ป่วยบางคนชักเฉพาะตอนหลับ ไม่เคยชักตอนตื่น  ในกลุ่มนี้สามารถจะขับรถได้  แต่ว่าต้องมีใบรับรองจากแพทย์แพทย์ยืนยันว่าเป็นโรคลมชักเฉพาะตอนหลับจริงๆ  ซึ่งสามารถที่จะขับรถได้ โดยต้องไปขอใบขับขี่ และต่อใบขับขี่ปีต่อปี  สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักอย่างทัดเทียมเหมือนคนทั่วไป

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก คือเราต้องดูแลเขาให้ทัดเทียมกัน  ไม่ใช่มองเขาเป็นผู้ป่วย และไปเพิ่มตราบาปให้กับเขา   หรือบางคนไปจะทำงาน  มีบริษัทบางแห่งเขียนแจ้งไว้ว่าโรคลมชักไม่รับ  ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเข้าใจที่ผิด  เป็นการปิดโอกาสให้กับเขา   ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักมีอยู่ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกสังคม   ทั้ง แพทย์  นักกฎหมาย นักการเมือง  หรือแม้กระทั่งผู้นำประเทศหลายๆ คน เป็นโรคลมชัก   อย่าไปปิดโอกาสคนเป็นโรคลมชัก   เราถือว่าผู้ป่วยโรคลมชักเป็นคนปกติ ที่เขามีความผิดปกติของสมองแค่ชั่วขณะ   ซึ่งจะต้องให้การรักษาที่ถูกต้องเท่านั้นเอง

——————————————————